ไทยถือเป็นประเทศผู้ส่งออกปลาทูน่ากระป๋องและปรุงแต่งอันดับหนึ่งของโลก ซึ่งปี 2552 มีปริมาณและมูลค่าการส่งออกในสัดส่วน 49.1% และ 43.2% ของการส่งออกปลาทูน่ากระป๋องและปรุงแต่งทั่วโลกส่วนด้านวัตถุดิบไทยยังจำเป็นต้องนำเข้าปลาทูน่ามากกว่า 80% ของความต้องการใช้ในประเทศ โดยมีปริมาณการนำเข้าปลาทูน่าแช่แข็งถึง 97.6% และปลาทูน่าสดหรือแช่เย็น 0.8% ของปริมาณการนำเข้าปลาทูน่า และผลิตภัณฑ์ทั้งนี้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 ไทยมีปริมาณและมูลค่านำเข้าปลาทูน่าสดหรือแช่เย็น และแช่แข็ง ขยายตัว 7.9% และ 12.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการใช้วัตถุดิบในอุตสาหกรรมปลาทูน่ากระป๋องและปรุงแต่งของไทยในปี 2553 มีแนวโน้มขยายตัวกว่าปีที่ผ่านมา สอดคล้องกับปริมาณการส่งออกปลาทูน่ากระป๋องและปรุงแต่ง มีมูลค่าการส่งออกขยายตัวถึง 15.3% โดยมีสัดส่วนถึง 98.6% ของปริมาณการส่งออกปลาทูน่าและผลิตภัณฑ์ของไทย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงคาดการณ์ว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 2553 การส่งออกผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าของไทย โดยเฉพาะปลาทูน่ากระป๋องและปรุงแต่งจะมีแนวโน้มการส่งออกขยายตัวต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยหนุนสำคัญจากการที่ประเทศคู่ค้ามักมีคำสั่งซื้อปลาทูน่ากระป๋อง เพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี เพื่อเตรียมสต๊อกสินค้าไว้จำหน่ายในช่วงเทศกาลปลายปี โดยคาดว่าทั้งปี 2553 ปริมาณการส่งออกปลาทูน่ากระป๋องและปรุงแต่งของไทย น่าจะขยายตัวได้ประมาณ 11-12% อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยลบที่อาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการแปรรูปปลาทูน่า ที่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมควรให้ความสำคัญ และวางแผนการบริหารวัตถุดิบให้รอบคอบมากขึ้น คือ สภาพอากาศของโลกที่ร้อนขึ้นจนส่งผลให้ปลาทูน่าในทะเลทั่วโลกมีปริมาณลดลง ขณะที่ความต้องการบริโภคก็ยังคงมีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งมีส่วนผลักดันให้ระดับราคาปลาทูน่าในระยะยาวมีแนวโน้มสูงขึ้น
นอกจากนี้ ยังต้องคำนึงถึงมาตรการทางการค้าภายใต้ข้อตกลงทางการค้าต่างๆ ที่เป็นทั้งปัจจัยหนุนและประเด็นพึงระวังสำหรับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมแปร รูปปลาทูน่าของไทย เนื่องจากมีส่วนช่วยผลักดันให้เกิดช่องทางขยายตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าของไทยมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็อาจเป็นอุปสรรคสำคัญในการกีดกันทางการค้าด้วย ทั้งมาตรการทางด้านภาษี และมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี อาทิ มาตรการควบคุมด้านสุขอนามัยและสารปนเปื้อน การตรวจสอบแหล่งกำเนิดสินค้าของผลิตภัณฑ์ (Rules of Origin) และการอ้างถึงการใช้แรงงานที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากลในอุตสาหกรรมประมง เป็นต้น
Good.
ตอบลบ